; ความรู้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (โนแอ็ก) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ความรู้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (โนแอ็ก)



ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (โนแอ็ก)


        เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจไปอุดตันตามเส้นเลือดที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ปอด หรือขา ซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการใช้ยา Warfarin

 

 

 

 

 


ข้อบ่งชี้สำคัญ

        - โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ไม่มีโรคลิ้นหัวใจร่วมด้วย เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
        - รักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในปอด แขน หรือขา
        - ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำสำหรับผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกหรือข้อเข่า

        ปัจจุบัน NOAC ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค มี 4 ชนิด ได้แก่ Dabigatran (Pradaxa), Rivaroxaban (Xarelto), Apixaban (Eliquis) และ Edoxaban (Lixiana)

Dabigatran (Pradaxa)
Rivaroxaban (Xarelto)
Apixaban (Eliquis)
Edoxaban (Lixiana)


วิธีรับประทานยา

Dabigatran (Pradaxa) :

ข้อบ่งใช้ วิธีกินยา คำแนะนำพิเศษ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
ในปอด แขน หรือขา

กินวันละ 2 ครั้ง
ห่างกัน 12 ชั่วโมง
กินยาทั้งเม็ด
ห้ามเปิดแคปซูลเด็ดขาด

ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
หรือข้อเข่า

กินวันละ 1 ครั้ง
**ควรกินเวลาเดิมทุกวัน
 


Rivaroxaban (Xarelto) :

ข้อบ่งใช้ วิธีกินยา คำแนะนำพิเศษ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
ในปอด แขน หรือขา
หรือ
ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
หรือข้อเข่า

กินวันละ 1 ครั้ง
**ควรกินเวลาเดิมทุกวัน
ควรกินพร้อมอาหาร
เพื่อเพิ่มการดูดซึมของยา

 

Apixaban (Eliquis) :

ข้อบ่งใช้ วิธีกินยา คำแนะนำพิเศษ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
ในปอด แขน หรือขา
หรือ
ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
หรือข้อเข่า

กินวันละ 2 ครั้ง
ห่างกัน 12 ชั่วโมง
 

 

Edoxaban (Lixiana) :

ข้อบ่งใช้ วิธีกินยา คำแนะนำพิเศษ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
ในปอด แขน หรือขา
หรือ
ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
หรือข้อเข่า

กินวันละ 1 ครั้ง
**ควรกินเวลาเดิมทุกวัน
 




ข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยที่ใช้ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ NOAC

        1. กินยาอย่างเคร่งครัดและตรงเวลา  เนื่องจากการขาดยาหรือกินยาไม่ตรงเวลา อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และความเสี่ยงการเกิดเลือดออกผิดปกติได้

        2. อาการผิดปกติที่ต้องสังเกต ระหว่างกินยา

           2.1 อาการเลือดออกผิดปกติ มีจ้ำเลือด รอยฟกช้ำตามผิวหนังโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อเกิดบาดแผลเลือดไหลไม่หยุด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เลือดออกในตาขาว ปัสสาวะสีแดงหรือน้ำตาล มีเลือดปนกับอุจจาระ เลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ หรือภาวะเลือดออกในสมอง โดยมีอาการปวดศีรษะรุนแรง เดินเซ อาเจียน ชัก ซึม หมดสติ
           2.2 อาการลิ่มเลือดอุดตัน เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ออก พูดไม่ชัด การเห็นภาพซ้อน
           2.3 การหกล้ม ศีรษะกระแทก หรือถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

        3. ระมัดระวังอุบัติเหตุหรือการเกิดแผล เพราะเลือดอาจไหลไม่หยุด วิธีแก้คือใช้มือหรือผ้าสะอาด กดตรงแผลไว้ให้แน่น เพื่อลดการสูญเสียเลือด หากบาดแผลมีเลือดออกมาก หรือมีอาการลิ่มเลือดอุดตัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

        4. เมื่อไปพบทันตแพทย์หรือแพทย์อื่น ควรแจ้งให้ทราบว่ารับประทานยากลุ่มนี้อยู่ โดยเฉพาะกรณีผ่าตัดหรือถอนฟัน

ข้อควรระวัง

        1. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลต่อภาวะการแข็งตัวของเลือด
        2. ข้อมูลการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรยังไม่เพียงพอ ดังนั้นหากตั้งครรภ์หรือต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากลุ่มนี้
        3. ไม่ควรกินอาหารเสริมหรือสมุนไพร เนื่องจากอาจมีผลต่อฤทธิ์ของยา NOAC ได้
        4. ยาบางชนิดมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา NOAC ดังนี้

           ยาที่ "เพิ่ม" ฤทธิ์ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ NOAC ได้แก่
           - ยาฆ่าเชื้อ เช่น Clarithromycin, Ketoconazole, Itraconazole, Ritonavir

           ยาที่ "ลด" ฤทธิ์ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ NOAC ได้แก่
           - ยากันชัก เช่น Carbamazepine, Phenytoin
           - ยาฆ่าเชื้อ เช่น Rifampicin

           **มียาอีกหลายชนิดที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา NOAC

คำแนะนำสำหรับการติดตามการรักษา

        ยาในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดเพื่อติดตามค่าการแข็งตัวของเลือดหรือ INR แต่บางกรณีแพทย์อาจพิจารณาเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา เรียกว่า Anti-Factor Xa  นอกจากนี้ยาในกลุ่ม NOACs ส่วนใหญ่ถูกกำจัดออกทางไตเป็นหลัก ดังนั้น จึงควรติดตามค่าการทำงานของไตและค่าความเข้มข้นของเลือด (Hb) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ทำอย่างไรหากลืมกินยา

กรณีกินวันละ 1 ครั้ง

ลืมกิน ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

กินทันทีที่นึกได้
ลืมกิน เกิน 12 ชั่วโมง

ข้ามมื้อนั้นไป ให้กินมื้อต่อไป
ในขนาดเท่าเดิม
**ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

 

กรณีกินวันละ 2 ครั้ง

ลืมกิน ไม่เกิน 6 ชั่วโมง

กินทันทีที่นึกได้
ลืมกิน เกิน 6 ชั่วโมง

ข้ามมื้อนั้นไป ให้กินมื้อต่อไป
ในขนาดเท่าเดิม
**ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

**หากลืมกินยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อมารับการตรวจครั้งถัดไป**

การเก็บรักษา

        - เก็บยาให้พ้นแสงและความชื้น
        - เก็บไว้ในแผงบรรจุจนกว่าถึงเวลารับประทานยา
        - ตรวจสอบวันหมดอายุทุกครั้งหลังจากรับยา
        - เก็บให้พ้นมือเด็ก